องค์การสมัยใหม่ Modern Organization.
เมื่อโลกย่างก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 กระแสโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีต่างๆ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในทุก ๆ ด้าน เป็นผลให้องค์การทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องปฏิรูปตนเองเพื่อความอยู่รอดกันอย่างเต็มที่ องค์การที่มีความเฉลียวฉลาด สามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเท่านั้นที่จะสามารถดำรงอยู่ได้ การพัฒนาองค์การ (organization development) ให้เป็นองค์การสมัยใหม่ (modern organization) ในยุคปัจจุบันได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากนักบริหาร และนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ ดังนั้นจึงเกิดมีแนวคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาองค์การ เช่น Strategic Planning, Balanced Scorecard, Six Sigma Competency, Knowledge Management และ Learning Organization เป็นต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์การ จะต้องเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้อย่างเหมาะสม โดยต้องมีการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในแนวคิดและปรัชญาของ ทฤษฎีองค์การ พฤติกรรมองค์การและ เครื่องมือทางด้านการบริหารและการพัฒนาองค์การนั้น ๆ ว่าเครื่องมือใดเหมาะสมกับองค์การของเราและสามารถนำมาใช้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงต่อองค์การ
แนวความคิดองค์การสมัยใหม่ Modern Organization.
องค์การสมัยใหม่ควรจะมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. ต้องเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (learning organization) การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ต้องอาศัยความเข้าใจและความมุ่งมั่นในการทำระบบย่อยทั้ง 5 ระบบขององค์การแห่งการเรียนรู้อันได้แก่ การเรียนรู้ (learning) องค์การ (organization) คน (people) ความรู้ (knowledge) และเทคโนโลยี (technology) ให้ตัวขับเคลื่อนและพัฒนาองค์การเพราะการเรียนรู้ประเภทนี้ไม่สามารถ จะเกิดขึ้นและไม่สามารถคงอยู่ได้ หากปราศจากความเข้าใจ และการพัฒนาระบบย่อยที่สัมพันธ์กันทั้ง 5 ระบบ
ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างองค์การแห่งการเรียนรู้ Peter M. Senge *กล่าวไว้ว่า องค์การแห่งการเรียนรู้คือ “ องค์การที่ซึ่งบุคลากรสามารถเพิ่มพูนความรู้ความสามารถได้อย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างผลงานได้ตามความปรารถนาอีกทั้งเป็นแหล่งสร้างความคิดทางปัญญาโดยการเรียนรู้ที่จะเรียนรู้ร่วมกัน” และการที่จะสร้างให้เกิดองค์การแห่งการเรียนรู้ได้นั้น Peter M. Senge ได้แนะนำว่าองค์การต้องสร้างวินัย 5 ประการ (fifth discipline) ให้เกิดขึ้นแก่บุคลากร ดังต่อไปนี้
1. บุคลากรที่มีความรอบรู้ (personal mastery) การเรียนรู้ของปัจเจกบุคคลเป็นจุดเริ่มต้นขององค์การแห่งการเรียนรู้ ซึ่งบุคคลควรต้องได้รับการส่งเสริมให้มีการพัฒนาอยู่เสมอโดยในการพัฒนาควรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รูปแบบของการเรียนรู้จะเน้นการเรียนรู้ในที่ทำงาน (work place learning) หรือการเรียนรู้งานในหน้าที่ (on the job learning)
2. รูปแบบความคิด (mental models) รูปแบบความคิดของบุคคลมีอิทธิพลต่อแนวทางการปฏิบัติของบุคคลนั้น ๆ อีกทั้งเป็นสิ่งที่กำหนด พฤติกรรมการปฏิบัติงานว่าจะมีลักษณะเช่นไร ด้วยเหตุนี้เององค์การต้องพัฒนาบุคลากรให้มีการเรียนรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่บุคคลต้องการ(self vision) กับสิ่งที่องค์การต้องการ (organizational vision) ซึ่งองค์การควรเตรียมการสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนแนวความคิดระหว่างกันอันทำให้คนในองค์การมีแนวความคิดไปในแนวทางเดียวกัน และนำไปสู่ผลงานที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล
3.วิสัยทัศน์ร่วม (shared vision) ความสอดคล้องระหว่างวิสัยทัศน์ขององค์การและวิสัยทัศน์ของบุคคล ส่งผลให้บุคคลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพันมิใช่เพียงแค่การทำตามหน้าที่เท่านั้น ดังนั้นจุดมุ่งหมายขององค์การแห่งการเรียนรู้คือการผลักดันให้บุคคลในองค์การทุกคนมีข้อสัญญาผูกมัดทางใจ โดยอาศัยจุดประสงค์ร่วมกันบนพื้นฐานของการเป็นหุ้นส่วน (partner) ซึ่งสิ่งดังกล่าวเกิดขึ้นได้เนื่องจากการแลกเปลี่ยนแนวความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ซึ่งกันและกันนั่นเอง
4. การเรียนรู้เป็นทีม (team learning) ในองค์การแห่งการเรียนรู้ไม่ควรให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเก่งอยู่ผู้เดียวในองค์การ ควรก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการ (Formal) และไม่เป็นทางการ (Informal) ก่อให้เกิดเป็นความรู้ ความคิดร่วมกัน ภายในองค์การ การดำเนินการอาจตั้งเป็นทีมเรียนรู้เพื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ รวมทั้งสภาพความเป็นไปภายในองค์การ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนแนวความคิดและนำไปสู่ข้อกำหนดในการปรับปรุงองค์การให้มีประสิทธิภาพ
5. ความคิดเป็นระบบ (system thinking) เป็นวินัยข้อที่สำคัญมาก มีลักษณะคือการพิจารณาองค์การต้องพิจารณาในรูปแบบองค์รวมขององค์การ ไม่ควรพิจารณาแต่เพียงปัจเจกบุคคลเท่านั้น มีกรอบแนวความคิดคือ คิดเป็นกลยุทธ์ เน้นรูปแบบที่สามารถนำมาปฏิบัติจริงได้ คิดทันเหตุการณ์ การคิดควรทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีอิทธิพลต่อองค์การ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์ การมองเห็นโอกาส การคิดไม่เพียงแต่การคิดในปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงสภาพการณ์ในอนาคต เพื่อสามารถกำหนดแนวทางการปฏิบัติเชิงรุกได้
อาจกล่าวได้ว่ามิติในการพัฒนาองค์การแห่งการเรียนรู้ (learning organization) เกี่ยวเนื่องกับมิติทางด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human resource development) อย่างแท้จริงกล่าวคือสถานะขององค์การแห่งการเรียนรู้จะดำรงอยู่ได้ต้องอาศัยบุคลากรเป็นสำคัญ ซึ่งบุคลากรนั้นคงเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายระดับ เช่น ผู้บริหาร หัวหน้างาน พนักงานระดับปฏิบัติการ ซึ่งต้องมีความชัดเจนในวินัย
องค์ประกอบขององค์การ
องค์การแต่ละประเภทมีองค์ประกอบที่เหมือนกัน ๕ องค์ประกอบ ได้แก่
1.ผู้บริหารระดับสูง (Strategic Apex)
2.ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Line)
3.เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ (Operating Core)
4.ฝ่ายเสนาธิการ (Techno Structure)
5.ฝ่ายสนับสนุน (Support Staff)
รูปแบบขององค์การ
มินซ์เบิร์กได้นำเสนอรูปแบบองค์การซึ่งมีความแตกต่างกันในองค์ประกอบทั้ง ๕ องค์ประกอบ ไว้ ๕ รูปแบบ ได้แก่
1.The Simple Structure
2.The Machine Bureaucracy
3.The Professional Bureaucracy
4.The Divisionalized Form
5.The Adhocracy
องค์การแต่ละรูปแบบจะมีองค์ประกอบที่สำคัญแตกต่างกัน เช่น องค์การแบบเรียบง่าย ส่วนที่เป็นหัวใจสำคัญคือ ผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากเป็นทั้งผู้กำหนดทิศทาง ควบคุมการทำงาน ประสานงาน และในบางครั้งก็ต้องลงมือทำงานบางอย่างด้วย องค์การระบบราชการแบบเครื่องจักรกล จะมีมาตรฐานการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด องค์ประกอบที่เป็นหัวใจจึงเป็นฝ่ายเสนาธิการซึ่งมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ให้กับองค์การ เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น